เหตุการณ์กบฏวังหลวง ของ โผน อินทรทัต

ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492" หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า กบฏวังหลวง พ.ต.โผน อินทรทัต ในฐานะโฆษกคณะปฏิวัติและแกนนำผู้ก่อการ ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้บุกเข้ายึดสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการที่พญาไท เมื่อเวลา 21.15 น. ออกอากาศแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย" นอกจากนี้ยังได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป

ภายหลังทหารของฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดกรมโฆษณาการคืนในช่วงเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น พ.ต.โผน อินทรทัต จึงถูกตำรวจจับกุมและยิงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวจากสถานีวิทยุกรมโฆษณาการไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน โดยตำรวจรายงานว่า พบศพที่อำเภอดุสิต และนำศพส่งโรงพยาบาล แจ้งว่าเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ท้ายทอยและหน้าผากมีรอยถูกยิง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นลักษณะเฉพาะของฆาตกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2490[1] ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกา ภรรยาของ พ.ต.โผน กำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้าย (พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต) ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ ทั้งนี้ โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่โปร่งใสจากทางการต่อเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด